ภูมิหลัง ด้านการศึกษาของคณะเซอร์ในประเทศไทย
ตามประวัติของคณะเซอร์ในประเทศไทย โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ คือสถานที่แห่งแรกที่คณะเริ่มต้นพันธกิจ และงานด้านการรักษาพยาบาล คือ งานแรกที่คณะได้เริ่มปฏิบัติ ณ ที่แห่งนี้ … ซึ่งหากย้อนกลับไป ราวปี ค.ศ. 1884 พระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ได้มีความปรารถนาที่จะเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงชาวยุโรปขึ้น ในประเทศไทย ท่านจึงเขียนจดหมายถึงพระสังฆราชที่ไซ่ง่อน เพื่อขอให้ท่านช่วยติดต่อแมร์แบงจาแมง อธิการิณีเจ้าคณะภาคเอเชียตะวันออกไกล ซึ่งในเวลานั้น คณะเซอร์ถูกส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส คณะเซอร์ถูกขอไปช่วยรักษาพยาบาลทหารที่บาดเจ็บในสงครามตงแก็ง ทำให้แมร์แบงจาแมงจำต้องปฏิเสธคำขอดังกล่าว
พร้อมด้วยคำเสนอแนะพระคุณเจ้าให้ขอ คณะนักบวชคณะอื่นที่อยู่ในภูมิภาคนี้ คือ
- ภคินีคณะพระกุมารเยซู ที่สิงคโปร์ (ซึ่งต่อมาได้ตกลง และเข้ามาตามคำขอนี้)
- ภคินีแห่งพระอารักขญาณแห่งปอร์ซิเออร์ ที่กัมพูชา
ที่มา : ประวัติแมร์แบงจาแมง
ในปี ค.ศ. 1895 ในสมัยของแมร์กังดีด พระสังฆราช หลุยส์ เวย์ ได้เขียนจดหมายขอให้คณะเซอร์เข้ามาทำงานด้านการพยาบาล ที่โรงพยาบาลแห่งใหม่ซึ่งกำลังสร้างอยู่ โดยในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1896 แมร์กังดีด ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อดูสถานที่ และการก่อสร้างที่กำลังเร่งดำเนินการ
เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง คณะเซอร์ 7 ท่าน ออกเดินทางจากไซ่ง่อน ในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1898 และเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 24 เมษายน…. นี่คือก้าวแรก และพันธกิจแรกของคณะ ในประเทศไทย ณ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
พันธกิจที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์นั้น มิใช่มีเพียงการรักษาพยาบาล และการดูแลผู้ป่วยเท่านั้น การให้การอบรมต่อบรรดาพนักงาน และเจ้าหน้าที่ในความรู้ด้านการรักษาพยาบาลยังเป็นสิ่งที่คณะเซอร์ได้ปฏิบัติที่นี่ด้วย
คณะเซอร์ยังมีหน้าที่ในการดูแลบรรดาเด็กกำพร้าจำนวนหนึ่ง …. มิใช่เพียงร่างกายที่บรรดาเด็ก ๆ เหล่านี้ได้รับการเอาใจใส่ดูแล จิตใจที่บอบช้ำจากการถูกทอดทิ้งได้รับการเยียวยา การอบรมสั่งสอนให้มีความรู้ ให้มีคุณธรรมจริยธรรม ก็เกิดขึ้นด้วยใน “บ้าน” แห่งนี้ แม้จะมิใช่ “โรงเรียน” หรือ “ห้องเรียน” อย่างเป็นทางการ และเป็นระบบที่ชัดเจนก็ตาม
เมล็ดพันธุ์แห่งการศึกษาของคณะเซอร์ ได้เริ่มถูกหว่านลงบนแผ่นดินไทย นับตั้งแต่เวลานั้น สำหรับบรรดาเด็ก ๆ บุคคลชายขอบเหล่านี้ที่ถูกทอดทิ้ง
ตามประวัติของคณะในประเทศไทยแล้ว โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โรงเรียนแห่งแรกของคณะถือกำเนิดขึ้น ในปี ค.ศ. 1905 ซึ่งเติบโต มั่นคง และยังคงดำเนินกิจการจวบจนปัจจุบัน
หากกล่าวถึงงานด้านการศึกษา และงานด้านอื่น ๆ ที่คณะได้เคยเริ่มไว้ แม้ปัจจุบันจะมิได้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ แล้ว…ณ ภาคอีสานของประเทศไทย การปฏิบัติพันธกิจต่าง ๆ ของคณะเซอร์ ในมิสซังลาว เมื่อปี ค.ศ. 1904 คณะเซอร์ได้เริ่มจัดการศึกษาขึ้นในโรงเรียน ที่หนองแสง และอุบลราชธานี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ของบ้านเมือง และสถานการณ์ระหว่างประเทศในเวลานั้น ได้บีบคั้น และกดดันให้คณะเซอร์จำต้องทิ้งเด็ก ๆ โรงเรียน และ “บ้าน” อันเป็นที่รักไป…
คณะเซอร์ปฏิบัติพันธกิจด้านการศึกษา การให้การอบรมคณะนักบวชพื้นเมือง (รักกางเขน) การดูแลบรรดาเด็กกำพร้า และให้การรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วย ที่มิสซังลาวตามระยะเวลาดังนี้ :
- หนองแสง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 – 1940
- อุบลราชธานี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 – 1942