สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเตือน
ให้ระวัง “คริสต์มาสปลอม” ที่หวังผลด้านธุรกิจการค้า…
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเตือนให้ระวัง “คริสต์มาสปลอม” ที่หวังผลด้านธุรกิจการค้า ด้วยการให้ไตร่ตรองถึงความใกล้ชิดของพระเจ้าต่อมนุษย์
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสส่งเสริมให้บรรดาคาทอลิกเฉลิมฉลองพระคริสตสมภพด้วยการเน้นถึงความใกล้ชิดของพระเยซูคริสตเจ้า โดยไม่เพียงมุ่งแต่ด้านบริโภคนิยม หรือด้านธุรกิจการค้าขายตามเทศกาลเท่านั้น โดยพระองค์ตรัสไว้ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 2021 ว่า
“ขอให้เราอย่าฉลองคริสต์มาสกันแบบจอมปลอมหรือในแบบด้านธุรกิจการค้าเลย แต่ให้เราได้รับการโอบอุ้มด้วยความใกล้ชิดของพระเจ้า อันเปี่ยมด้วยความเอื้ออาทรและความอ่อนโยน ในบรรยากาศของเทศกาลคริสต์มาสที่ให้ศิลปะ ดนตรี บทเพลงและประเพณีช่วยนำเข้าสู่ในจิตใจของเรา”
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงต้อนรับคณะผู้แทนจากประเทศเปรูและประเทศอิตาลี ก่อนที่จะทรงทำพิธีเปิดต้นคริสต์มาสของนครรัฐวาติกันประจำปี 2021 ที่จตุรัสหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร ตอนภาคเช้าของวันเดียวกันนั้น ณ ห้องประชุมเปาโล ที่ 6 ที่ซึ่งมีถ้ำพระกุมารขนาดใหญ่ประดับอยู่เพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองเทศกาลพระคริสตสมภพ พระองค์ได้ประทานคำเทศน์เตือนแก่ผู้ฟังว่า
อย่าปล่อยให้การฉลองคริสต์มาส “ต้องเปื้อนหมองด้วยกระแสบริโภคนิยมและความเย็นเฉยเลย”
สัญลักษณ์ของการฉลองคริสต์มาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ำพระกุมารและต้นคริสต์มาสนั้น “นำเราสู่ความมั่นใจที่เติมเต็มใจของเราด้วยสันติ และความชื่นชมยินดีแห่งการรับสภาพมนุษย์ของพระเยซูคริสตเจ้า”
ถ้ำพระกุมารของนครรัฐวาติกัน ปี 2021 นี้ได้ถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่จตุรัสหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตรในตอนบ่ายของวันที่ 10 ธันวาคม เพื่อให้ผู้คนได้ชื่นชมจนถึงวันที่ 9 มกราคม 2022 ซึ่งเป็นวันฉลองพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง
ถ้ำพระกุมารดังกล่าวมาจากเมืองเล็กๆ ที่ชื่อ ชอปก้า (Chopcca) ในประเทศเปรูซึ่งตั้งอยู่สูงกว่าระดับ 12,000 ฟุตในแถบภูเขาแอนดีส ประกอบด้วยหุ่นจำลอง 35 ชิ้นที่เป็นทั้งบุคคล ซึ่งสวมอาภรณ์ประจำถิ่นของเปรูและสัตว์ประจำถิ่นด้วยเช่นกัน นอกนั้นยังมีเครื่องเป่าที่ชื่อ คอนดอร์ (Condor) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำชาตินี้
พระรูปของพระนางพรหมจารีมารีย์ นักบุญโยเซฟ และพระกุมารเยซู รวมทั้งโหราจารย์ 3 องค์นั้นมีขนาดใหญ่เท่าคนจริง ถูกทำขึ้นด้วยวัสดุต่างๆ ทั้งจากเซรามิค ไม้มากี (maguey) และใยแก้ว
องค์พระกุมารเยซู มีลักษณะของเด็กน้อย “ฮีลีปุสกา” (Hilipuska) โดยที่พระองค์ทรงถูกห่อหุ้มด้วยผ้า “ชุมปี” (chumpi) หรือผ้าแถบที่นำมาสานกัน และทรงห่มด้วยผ้าพื้นเมืองของชาวฮวนคาเวลีกา (Huancavelica blanket) … ส่วนโหราจารย์ทั้ง 3 องค์นั้นถือถุงย่ามหรือกระสอบทอที่มาจากภาคพื้นบริเวณนั้น พร้อมด้วยอาหารอันโอชารส อาทิเช่น คีนัว กีวิชา คานิฮวา และมันฝรั่ง แต่พาหนะที่ใช้นั้น แทนที่จะเป็นอูฐ กลับเป็นลามะที่ประดับด้วยธงชาติเปรูอยู่บนหลังของมัน
ฉากถ้ำพระกุมารนี้ยังระลึกถึงการเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีแห่งอิสรภาพของประเทศเปรู ซึ่งในระหว่างพิธีเปิดถ้ำนี้ มีการนำเสนอวีดีทัศน์การแสดงประสานเสียงของคณะนักร้องเด็กในประเทศเปรูด้วย แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นประกอบกับมีฝนตก พิธีเปิดถ้ำพระกุมารนี้จึงได้กระทำขึ้นภายในห้องประชุมเปาโล ที่ 6 พร้อมกับการถ่ายทอดสดจากจตุรัสของมหาวิหารนักบุญเปโตรเพื่อแสดงให้เห็นถึงแสงสีอันสวยงามของต้นคริสต์มาส….ต้นสนที่ใช้ในปีนี้มีความสูงถึง 92 ฟุต ส่งมาจากป่าทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ในจังหวัดเทรนตีโน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสว่า
ต้นไม้ “เป็นเครื่องหมายถึงพระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นต้นไม้แห่งชีวิต อันเป็นต้นไม้ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้เพราะบาป แต่ด้วยการเฉลิมฉลองพระคริสตสมภพ ชีวิตของพระเจ้าจึงได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับชีวิตมนุษย์ ส่วนต้นคริสต์มาสนั้นบ่งชี้ถึงการเกิดใหม่ พระพรของพระเจ้าที่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับมนุษย์ตลอดไป ซึ่งประทานชีวิตของพระองค์ให้แก่เรา”
พระองค์ตรัสเสริมว่า
ไฟที่ประดับประดาต้นคริสต์มาสเตือนบรรดาคริสตชนให้ระลึกถึงว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็น “แสงสว่างแห่งความรัก ที่ยังคงส่องแสงในความมืดมนของโลกนี้”
ในส่วนที่เกี่ยวกับถ้ำพระกุมารแบบเปรูนี้ เป็นดังเครื่องหมายของ “การเรียกสากลสู่ความรอดพ้น พระเยซูเจ้าทรงบังเกิดมาเป็นประชากรคนหนึ่งของโลกนี้ เพื่อไถ่กู้มนุษย์ทุกคน ทุกวัฒนธรรมและทุกชนชาติให้รับความรอดพ้น”
สมเด็จพระสันตะปาปายังทรงให้ไตร่ตรองถึงความสำคัญแห่งความหวังในระหว่างเทศกาลคริสต์มาสด้วย
“เหตุแห่งความหวังก็คือ พระเจ้าสถิตอยู่กับเรา ทรงไว้วางใจในเรา และพระองค์ไม่ทรงเคยเหน็ดเหนื่อยกับเราเลย” โดยทรงให้ไตร่ตรองความจริงที่ว่า พระเจ้าทรงเลือกมาพำนักในท่ามกลางมวลมนุษย์ และ “ทรงรับเอาความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ในแต่ละวัน…“นี่แหละคือสิ่งที่ถ้ำพระกุมารสอนให้แก่เรา ในโอกาสพระคริสตสมภพ พระเจ้ามิได้ทรงเปิดเผยพระองค์เองในรูปแบบของผู้หนึ่งที่มีอำนาจสูงในการปกครอง แต่ทรงมาในลักษณะของผู้หนึ่งที่สุภาพถ่อมตน เป็นเด็กน้อยและยากจน เป็นเพื่อนร่วมทางที่คอยรับใช้ ซึ่งหมายความว่า ทรงต้องการให้เราทำตนให้คล้ายกับพระองค์ด้วยการถ่อมตนลงและรับใช้”
“เพื่อให้เป็นการฉลองคริสต์มาสที่แท้จริง เราต้องไม่ลืมว่า พระเจ้าเสด็จมาหาเรา และทรงขอให้เราดูแลบรรดาพี่น้องชายหญิงของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ยากไร้ที่สุด อ่อนแอที่สุด เปราะบางที่สุด เหตุว่าโรคระบาดของสังคมยุคนี้ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติมากยิ่งกว่าเดิม”
ขอให้พระมารดามารีย์และนักบุญโยเซฟทรงช่วยเราให้ดำเนินชีวิตแห่งคริสต์มาสเช่นนี้ เราขอขอบคุณทุกท่าน ณ ที่นี้ ขอขอบคุณมายังประเทศและครอบครัวของพวกท่าน ขอพระเจ้าอวยพระพร
ข้อมูลจาก FB
แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ