มูลนิธิอาเซียน และ เอสเอพี ดันทักษะดิจิทัลเยาวชนบนเวที ASEAN DSE
มูลนิธิอาเซียน และ เอสเอพี เอสอี (NYSE: SAP) เดินหน้าจัดการแข่งขัน ASEAN Data Science Explorers (ASEAN DSE) ระดับประเทศ ประจำปี 2564 โดยผลการตัดสินทีมผู้ชนะเลิศ ระดับประเทศ ได้แก่ ทีม ‘Youth Forward’ จาก โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ซึ่งจะเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน ASEAN DSE ประจำปี 2564 รอบชิงชนะเลิศ ระดับภูมิภาค ที่จะจัดขึ้นในเดือน ตุลาคมนี้ ผ่านรูปแบบออนไลน์
ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะได้ถูกคัดเลือกจากความสามารถในการคิดค้นแนวคิดที่มีศักยภาพสูงสุดในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียน ด้วยการใช้ข้อมูลเชิงลึกมาเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์และนำเสนอแนวทางแก้ปัญหา ในส่วนของเกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาจากความคิดสร้างสรรค์, การประยุกต์ใช้งานได้จริง, การริเริ่มนวัตกรรมใหม่และการนำเสนอแผนงานที่น่าสนใจ
ทีมผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ทีม ‘Youth Forward’ ประกอบด้วย นางสาวรดา ประไพกรเกียรติ และ นางสาวกัญจรีย์ ศุภวิทยา จาก โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ กับโครงการที่มุ่งลดช่องว่างในกลุ่มคนทำงานภาคเกษตรกรรม ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มเกษตรกร วางรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประชาคมอาเซียน
นางสาวรดา ประไพกรเกียรติ จากทีม Youth Forward กล่าวว่า “พวกเรามองว่า Data Science เป็นสาขาวิชาที่มีความสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะมีส่วนช่วยในเรื่องของการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) รวมถึงทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving Skill) ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสายอาชีพ ถ้ามีทักษะเชิง Data จัดการกับข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ จะทำให้เราวิเคราะห์แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น สาเหตุที่ทีมของเราเลือกหัวข้อเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม เพราะเป็นหัวข้อที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากเท่าที่ควร ประกอบกับภาคเกษตรกรรม เป็นปัจจัยที่กระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศในอาเซียน แต่กลับพบว่ายังมีอุปสรรคและช่องว่างในหลายด้าน เช่น การขาดองค์ความรู้ที่เพียงพอ จุดมุ่งหมายของเราจึงต้องการยกระดับให้เกษตรกรที่จัดเป็นกลุ่ม Blue Collars มีรายได้เทียบเท่ากับกลุ่ม White Collars ค่ะ”
ADVERTISEMENT
นางสาวกัญจรีย์ ศุภวิทยา จากทีม Youth Forward เผยความรู้สึกว่า “การแข่งขัน ADSE 2564 เปิดโอกาสให้พวกเราได้เรียนรู้ทักษะนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านการสื่อสาร ต้องสื่อสารให้กระชับ ชัดเจน ตรงประเด็นเพื่อให้ทุกคนเข้าใจ นอกจากนี้ ยังได้เสริมทักษะด้านการทำงานเป็นทีม เคารพความคิดเห็นของเพื่อนร่วมทีม เพื่อร่วมกันทำงานให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด ส่วนตัวเชื่อว่าทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นอย่าง Soft Skill เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้เพิ่มเติมเช่นกัน นอกจากนี้ ในฐานะที่เราเป็นเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญมากในการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศ ถ้าปลูกฝังทักษะที่เสริมศักยภาพของเยาวชนอย่างแท้จริง เช่น Data Science, ทักษะด้านดิจิทัล จะทำให้นำไปต่อยอดได้ เพราะเด็กรุ่นใหม่เป็นคนที่มีไอเดียแล้วกล้าที่จะลงมือทำ ซึ่งอาจนำมาซึ่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ”
การแข่งขัน ASEAN DSE ประจำปี 2564 มุ่งมั่นเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาทักษะที่จำเป็นของเยาวชนผ่านหลากหลายกิจกรรมตลอดการแข่งขัน อาทิ การจัดอบรมด้าน Data Analytics และการแข่งขันที่ดึงศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งโครงการในปีนี้ได้มีเพิ่มเติมเรื่องของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างความยั่งยืนเข้ามาจากธีมเดิมที่ยึดแนวทางในการแก้ปัญหาทางสังคม ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) อีกทั้ง ยังร่วมมือกับองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) ใน 10 ประเทศอาเซียนเพื่อเปิดการอบรมกับกลุ่มเยาวชนที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีและเยาวชนที่มีความบอกพร่องทางด้านร่างกาย ในส่วนของความร่วมมือกับองค์กร NGO ต่างๆ ได้รวมถึงการฝึกอบรม SAP Analytics Cloud ให้กับคณาจารย์และนักศึกษากว่า 11,782 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 158% (ปี 2563 มีเยาวชนและอาจารย์ร่วมอบรม 4,563 คน) และปีล่าสุดมีนักเรียน 714 คนจาก 10 ประเทศทั่วทั้งอาเซียนร่วมแข่งขัน เพื่อเป็นตัวแทนประเทศก่อนเข้าสู่รอบชิงฯ ในระดับภูมิภาค
นายเอทูล ทูลิ กรรมการผู้จัดการ เอสเอพี อินโดไชน่า กล่าวว่า “ในโอกาสเข้าสู่ปีที่ 5 สำหรับการแข่งขัน ASEAN DSE ซึ่ง มีจุดมุ่งหมายในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมทักษะดิจิทัลให้กลุ่มเยาวชนที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำในอนาคต โดยปีนี้เราได้เพิ่มหัวข้อด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้าไปเป็นหนึ่งในแนวทางหลักของโครงการ สอดคล้องกับประเด็นปัญหาสำคัญของอาเซียนที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เอสเอพี มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปิดรับความหลากหลายของผู้เข้าร่วมโครงการ และชื่นชมความตั้งใจของเหล่าเยาวชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเต็มที่ เชื่อมันว่า ASEAN DSE จะช่วยเสริมพลังของเยาวชนอาเซียนที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถ พร้อมขับเคลื่อนอนาคตและปูทางสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน”
ดร. หยาง มี เอ็ง กรรมการบริหารของมูลนิธิอาเซียน กล่าวเสริม “ASEAN DSE คือ โครงการที่สะท้อนถึงปณิธานของมูลนิธิและ เอสเอพี ที่มีร่วมกัน ในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับเยาวชนอาเซียน ผ่านการเตรียมความพร้อมด้านทักษะที่สำคัญท่ามกลางการสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาขยายขีดความสามารถและรับมือสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต เรารู้สึกประทับใจกับผลงานของผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่ได้นำเสนอสตอรี่บอร์ดโครงการโดยขับเคลื่อนจากอินไซต์เชิงลึก ซึ่งเยาวชนเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลผ่านการใช้งานแพลตฟอร์มล้ำสมัย เราเชื่อมั่นว่าเยาวชนอาเซียนจะสามารถวางแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชนต่างๆ มีความก้าวหน้า และเราหวังว่าความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิอาเซียน และ เอสเอพี จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมากขึ้นในภายภาคหน้า เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ต่อไป”
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ มีการถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก ซึ่งมียอดผู้เข้าชมมากกว่า 1,200 คน สำหรับรายละเอียดผู้ได้รับรางวัล ระดับประเทศ มีดังต่อไปนี้
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม ‘Caffeine’ ประกอบด้วย นางสาวจิณณ์ รัชโน และ นายกศิฐ์กฤษฎิ์ จันทะเรือง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน และ โรงเรียน Catholic Junior College (ประเทศสิงคโปร์) กับโครงการซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะทางการแพทย์
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทีม ‘Double T’ ประกอบด้วย นางสาวธิตา ว่องวานิช และ นายธาม กาลวันตวานิช จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับโครงการซึ่งมุ่งวางกลยุทธ์การจัดการของเสียอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ปัญหาด้านการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกขั้นตอน
ร่วมเป็นกำลังใจให้ทีม Youth Forward ร่วมการแข่งขัน ADSE ประจำปี 2564 ระดับภูมิภาค ในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันรอบรอบตัดสิน ได้ทาง https://www.facebook.com/ASEANFoundation