เด็กหลุดจากระบบ (Drop out) และผลกระทบจากโควิด
“คนแรกที่ต้องไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษาคือครู กำลังใจครูสำคัญสุด ถ้าหลุดไปแล้วยากที่จะช่วยให้เด็กไม่ให้หลุด ครูเห็นปัญหาแล้วรีบช่วย นั่นแหละคือการทำให้เด็กไม่หลุดออกจากวงจรการศึกษา มีหลายองค์ประกอบที่จะจัดการเรียนรู้ แกนสำคัญที่สุดคือครูใส่ใจเด็ก”
‘เซอร์มารี-อักแนส สุวรรณา บัวทรัพย์’ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ลพบุรี เล่าผ่านประสบการณ์ทำงานที่พบเด็กหายไปจากห้องเรียนออนไลน์ ผ่านบันทึกหลังการสอนของครู ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสงสัยว่าทำไมเด็กถึงไม่เข้าเรียน ทั้งที่โรงเรียนมีนโยบายสนับสนุนอุปกรณ์ อีกทั้งเด็กหนึ่งชื่อยังไม่เข้าเรียนหลายวิชา
“เราไม่ตัดสินว่าเด็กไม่เข้าเรียนเพราะไม่อยากเรียน แต่ครูทุกคนช่วยกันติดตาม ครู 1 คน ติดต่อผู้ปกครองและนักเรียน 12-13 คน ถามทีละคนว่ามีอะไรให้โรงเรียนช่วยบ้าง พบว่าบางบ้านมีเด็ก 3 คนเรียนออนไลน์พร้อมกัน เราเลยช่วยให้เด็กบางคนมาเรียนกับครูที่โรงเรียน ทำให้โรงเรียนกับผู้ปกครองให้เป็นหัวใจแก้ปัญหานี้บนคำว่า No child left behind”
ภาพนี้ยังเกิดขึ้นที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่ ‘เซอร์มารี-อักแนส สุวรรณา บัวทรัพย์’ ดูแล เธอเล่าว่าที่นั่นเป็นโรงเรียนบนดอย ครูช่วยกันออกแบบวิธีตามหาเด็ก โดยไปประจำตามหมู่บ้านเดือนละ 3 สัปดาห์ ชวนนักเรียนกลุ่มเล็ก ๆ จัดการเรียนรู้คละชั้นรวมวิชา ประยุกต์การเรียนรู้ผ่านการลงมือสร้างบทเรียนในชุมชน แล้วให้เด็กตอบตัวเองว่าอะไรคือความรู้ใหม่
“ตามคำที่พระเยซูเจ้าได้บอกว่า ปล่อยให้เด็ก ๆ มาหาเราเถอะ เมื่อครูเห็นปัญหาแล้วรีบช่วย นั่นแหละคือการที่ทำให้เด็กของเราไม่หลุดออกจากวงจรการศึกษา”