ยุค5G ใครก็เป็นสื่อได้ แต่เป็นสื่อคุณภาพ ต้องคำนึงถึงจริยธรรม-ผู้เสพสื่อ
นักวิชาการด้านสื่อแนะ ยุค5G ใครก็เป็นสื่อได้ แต่เป็นสื่อคุณภาพ ต้องคำนึงถึงผลกระทบ ผลประโยชน์ของผู้เสพสื่อ กลุ่มเป้าหมาย ย้ำผู้ผลิตสื่อคุณภาพ ควรยึดหลักจริยธรรมมากกว่ากระแสเพียงอย่างเดียว
วันนี้(23 ธ.ค.2564) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดงานเสวนา “นั่งคุยเรื่องสื่อในยุค5G ใครๆ ก็เป็นสื่อคุณภาพได้” ภายใต้โครงการ MEDIA MEE-DEE ศูนย์รวมความรู้ รู้เท่าทันสื่อบนโลก โดยมี ผศ.ดร.อานิก ทวิชาชาติ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก เพราะพฤติกรรมของผู้เสพสื่อเปลี่ยนไปจากเดิม ยิ่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทุกคนเข้าสู่โลกออนไลน์โลกเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสื่อสาร มีมามากกว่า 20 ปี แต่มามีผลรุนแรงมากขึ้น ทุกคนหันมาเสพสื่อผ่านเทคโนโลยีมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้สื่อหลักถูกดิสรัปต้องปรับตัวเองมาสู่ออนไลน์เพื่อนำเสนอข่าวสารข้อมูลเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สื่อหลักต้องปรับตัวเองให้เท่าทัน การผลิตสื่อจึงออกมาให้เห็นในรูปแบบหลากหลายตามช่องทางในการสื่อสาร และพฤติกรรมของผู้เสพสื่อ
สื่อคุณภาพสร้างได้ ต้องมีจริยธรรม คำนึงผู้เสพสื่อ
“หลายคนมักจะถามว่าเรียนนิเทศศาสตร์ไปทำไม เพราะตอนนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ แต่การจะเป็นสื่อคุณภาพได้นั้น ไม่ใช่เพียงผลิตเนื้อหา และส่งสารออกไปตามช่องทางต่างๆ แต่ต้องเข้าใจเนื้อหา รู้ถึงคุณค่า ประโยชน์ และผลกระทบของเนื้อหาที่ตนเองจะนำเสนอ ที่สำคัญต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมาย ผู้เสพสื่อคือใคร เด็กทุกคนจะมีไอเดีย มีความคิด มีเนื้อหา อยากผลิตสื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองเป็นหลัก ดังนั้น การสอนนิเทศศาสตร์ในปัจจุบันจึงไม่ใช่บอกเขาว่ามีเครื่องมืออะไร จะผลิตอะไร เพราะพวกเขารู้อยู่แล้ว แต่เราต้องคอยให้คำแนะนำ ตั้งคำถามในสิ่งที่เขาควรรู้ ที่สำคัญการจะเป็นสื่อคุณภาพได้ ส่วนหนึ่งต้องเกิดจากจริยธรรมของคนๆ นั้นด้วย” ผศ.ดร.อานิก กล่าว
ผศ.ดร.อานิก กล่าวต่อว่า ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่จะทำให้สื่อมีคุณภาพ และทำให้คนผลิตอยากผลิตสื่อที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม คือ ต้องมีจริยธรรมสื่อ ซึ่งสื่อมีความเกี่ยวข้องกับทุกคนอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องของการสื่อสาร ตราบใดที่ทุกคนยังพูด ยังสื่อสารอยู่ ผู้ทำหน้าที่ผลิตสื่อ การเรียนนิเทศศาสตร์ก็ยังคงจำเป็น เนื่องจากเรื่องการสื่อสาร ไม่ใช่เพียงถ่ายทอดออกไปแล้วจบ แต่นักสื่อสาร ผู้ผลิตสื่อที่ดีต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมาย ผู้เสพสื่อร่วมด้วย
ในโลกออนไลน์ โลกเทคโนโลยี การผลิตสื่อออกไปนั้นยิ่งต้องมองให้รอบด้าน เพราะเมื่อถ่ายทอดออกไปเร็วจะกระจายอย่างรวดเร็วมาก และทุกคนในโลกออนไลน์ก็พร้อมจะคอมเมนต์ ดังนั้น การนำเสนอข่าว ข้อมูล เนื้อหาต่างๆ ต้องมองเรื่องความถูกต้อง ข้อเท็จจริง มีความบันเทิงในนั้นได้แต่ต้องไม่สร้างผลกระทบให้แก่ผู้อื่น
การเปลี่ยนแปลงของสื่อในยุค 5G
“ตอนนี้การสื่อสารในโลกออนไลน์ ทุกคนไม่ได้อ่านเพียงข่าวสาร เนื้อหา แต่ทุกคนจะอ่านคอมเมนต์ด้วย ซึ่งคอมเมนต์แสดงให้เห็นถึงการวิพากษ์วิจารณ์และมุมมองของผู้เสพสื่อ มีการแบ่งฝังจากกันชัดเจน มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ชอบ ไม่ชอบ การรู้เท่าทันสื่ออันนำไปสู่การสร้างสื่อคุณภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ เช่นเดียวกับการมีจริยธรรมของผู้ผลิตสื่อ การจะทำให้เป็นสื่อน้ำดีสามารถทำให้เกิดขึ้น และเข้าถึงผู้คนได้มากต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม และพฤติกรรมของผู้คนในแต่ละช่วงวัย” ผศ.ดร.อานิก กล่าว
ในยุค 5G การสื่อสารออนไลน์จะเป็นช่องทางหลักของผู้คนมากขึ้น และตอนนี้ไม่มีใครที่ไม่มีมือถือ ทุกคนเป็นผู้เสพสื่อ และเป็นผู้ผลิตสื่อได้อย่างเดียวกัน
ผศ.ดร.อานิก กล่าวต่อไปว่า สื่อกระแสหลักคงมีการเปลี่ยนแปลง คือ อาจเหลือเพียงหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ๆ หรือหนังสือพิมพ์อาจกลายเป็นเพียงสื่อหนึ่งในองค์กรสื่อที่ทุกคนอาจจะไม่ต้องเสียเงินซื้อหนังสือพิมพ์ หรือสื่อหนังสือพิมพ์ย้ายตัวเองมาสู่ออนไลน์ทั้งหมดอย่างบางสื่อได้ทำอยู่ตอนนี้ ขณะที่โทรทัศน์มองว่าจะยังคงอยู่แต่เนื้อหาในการนำเสนอ ต่อให้เป็นข่าวก็จะต้องเน้นสาระผสมกับความบันเทิง อาจจะไม่ได้เห็นรายการที่มีเนื้อหาสาระเน้นๆ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่ชอบ คนไทยชอบการสื่อสาร เนื้อหาที่มีสาระควบคู่ความบันเทิงมากกว่าสาระเพียวๆ ทุกคนชอบแสดงความคิดเห็น เป็นไปตามกระแสที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว
การจะผลิตสื่อคุณภาพ ต้องมีการสอนให้ทุกคนรู้จักเท่าทันสื่อ และนึกถึงผลประโยชน์ ผลกระทบของผู้เสพสื่อ ผลิตสื่อโดยคำนึงถึงจริยธรรมสื่อ ผศ.ดร.อานิก กล่าวอีกว่า การสร้างสื่อคุณภาพเป็นเรื่องง่าย โดยผลิตสื่อสร้างสรรค์ สื่อที่ไม่ทำร้ายใครไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ผลิตสื่อเอง หรือผู้เสพสื่อ และหากผู้ผลิตสื่อทุกคน ไม่ว่าจะหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ร่วมมือกันสร้างสรรค์ ผลิตสื่อคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ พัฒนาเนื้อหาข่าวกระแสให้มีอะไรมากกว่านำเสนอว่าเกิดอะไรและจบ ต้องหามุมมองเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้อ่านได้ประโยชน์ ถ้าทุกแห่งช่วยกันเชื่อว่าจะมีสื่อคุณภาพเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทำสื่อรุ่นใหม่ผลิตสื่อได้ตามที่ตนเองต้องการ แต่ต้องเข้าใจมุมมองในการนำเสนอ รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร ผลิตไปแล้วผู้เสพสื่อจะได้อะไรบ้าง เพราะหากนำเสนอเพียงตอบสนองความต้องการของตนเอง หลายๆ คนก็คิดได้เช่นเดียวกัน ไม่ได้แตกต่างกัน เมื่อความน่าสนใจไม่มีความนิยมก็อาจจะไม่ได้มาก สื่อที่ผลิตออกไปก็อาจจะไม่สามารถส่งไปถึงผู้รับสารได้
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก WEBSITE
กรุงเทพธุรกิจ