การเล่นต่อบล็อกไม้…ต่อความคิด ต่อทักษะชีวิต ต่อการมีชีวิตในสังคมและแบ่งปัน
“การเล่นต่อบล็อกไม้”
บล็อกไม้ถือเป็นของเล่นที่มีอิสระทางโครงสร้าง (Free form) ซึ่งเด็กสามารถนำไปใช้เล่นเป็นอะไรก็ได้ตามแต่จินตนาการในเด็กวัย 0-1 ปี พวกเขามักเอาบล็อกไม้มาขว้าง มากัด มาอม มาเคาะให้เกิดเสียง เพื่อตอบสนองต่อการทดสอบข้อจำกัดของร่างกายตนเอง และทดลองตามความสนใจของตนเอง ซึ่งได้แก่ ชิม กัด ขว้าง อม เคาะ ในจุดนี้พ่อแม่สามารถสอนเขาด้วยการเล่นให้ลูกดู หรือ เล่นไปกับเขาเสียเลย เพราะเด็กๆ จะเลียนแบบพ่อแม่ของพวกเขา ซึ่งบางทีการเล่นที่เด็กๆ มักจะชอบคือการทำลายบล็อกไม้ที่พ่อแม่ต่อไว้สูงนั่นเองต่อมาเด็กๆ จะค่อยๆ ค้นพบว่า บล็อกไม้สามารถต่อกันได้ พวกเขาจะต่อจากแนวราบ หรือ เรียงไปเรื่อยๆ เป็นขบวนบล็อกไม้ต่อๆ กัน ทำให้การรับรู้ด้านมิติสัมพันธ์ต่างๆ ของเด็กๆ ได้รับการพัฒนา
นักเรียงของ
ช่วงหนึ่งของวัยนี้ เด็กๆ จะเรียงทุกอย่างต่อๆ กันเป็นแนวนอน (ไม่ใช่แค่เพียงบล็อกไม้ เขาจะเรียงทุกอย่างที่สามารถคว้าถึง) จนเขามั่นใจแล้วว่าตัวเองจะสามารถต่อได้สูงอย่างมั่นคง ซึ่งเกิดจากการที่เขามีกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แข็งแรงและทนทานพอจะยกบล็อกไม้ขึ้น แล้วนำไปต่อสูงขึ้นไปเป็นแนวตั้ง
ในทางพัฒนาการอ้างอิงจากแบบทดสอบพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Denver II Developmental Screening Test) เด็กๆ อายุ 1-2 ขวบ การที่พวกเขาต่อบล็อกไม้ได้ 3 ชั้นได้ถือเป็นหลักฐานทางพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ดีของพวกเขา
การต่อบล็อกไม้เป็นตึกสูง ยิ่งสูง ยิ่งท้าทาย ยิ่งต้องวางเเผนและเบามือ เมื่อเขาต่อได้สูงยิ่งเสริมความมั่นใจ
ยิ่งต่อ ยิ่งสร้างตัวตน
ถ้าต่อแล้วบล็อกไม้ถล่มลงมา เหตุการณ์นี้ได้สอนให้เด็กรู้ว่า “ไม่เป็นไร” การพังของบล็อกไม้เป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นได้เสมอ เขาได้เรียนรู้การจัดการอารมณ์ไม่ให้โกรธ และรับมือกับของที่พังลงมา ถ้าเขาพร้อมจะเล่นต่อ ก็เพียงกลับไปต่อใหม่
ในเด็กวัย 2-3 ปีขึ้นไป จินตนาการของพวกเขาจะทำให้บล็อกไม้ที่พวกเขาต่อขึ้นมา ค่อยๆ มีชีวิต เด็กๆ บล็อกไม้สีเหลี่ยมธรรมดาๆ ในวันวานก็จะกลายเป็น “รถยนต์” “เครื่องบิน” “กระต่าย” และอื่นๆ ได้ตามใจคิด ในแต่ละวันบล็อกไม้ชิ้นเดิมอาจจะกลายร่างเป็นสารพัดสิ่ง ยิ่งเล่น ยิ่งพัฒนาความคิดได้ไม่รู้จบ
วินัยข้อแรก = เก็บของเล่น
การเล่นบล็อกไม้ ควรจบด้วยการเก็บของเล่นเสมอ เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้วินัย “การดูแลรับผิดชอบ” ของเล่นของตัวเอง
“บล็อกไม้” เป็นของเล่นที่ทุกวัยสามารถเล่นได้ เพราะการต่อบล็อกไม้ขึ้นอยู่กับความคิดและจินตนาการของผู้สร้าง เด็กจะสร้างบล็อกไม้ตามความคิดแบบเด็ก หากเราเป็นผู้ใหญ่เราจะสร้างออกมาในแบบผู้ใหญ่
แต่ยิ่งเราเล่นกับลูกมาเท่าไหร่ ยิ่งสร้างความผูกพัน ยิ่งทำให้เราเป็น “พ่อแม่ที่มีอยู่จริง” สำหรับลูกของเรา
สุดท้าย หากเราไม่มีบล็อกไม้ เราสามารถใช้ของเล่นหรือวัสดุอื่นๆ ทดแทนบล็อกไม้ได้เช่นกัน อย่างเช่น ตัวต่อพลาสติก กล่องลัง อิฐ หรือ แม้แต่หิน ก็สามารถนำมาเล่นในรูปแบบเดียวกันได้
“เด็กๆ ยิ่งเล่น ยิ่งพัฒนา”…“พ่อแม่ยิ่งเล่นกับลูก ยิ่งมีอยู่จริง”
ด้วยรักจากใจ
เม
เพจตามใจนักจิตวิทยา
อ้างอิง
Frankenburg, W. K., Dodds, J., Archer, P., Shapiro, H., & Bresnick, B. (1992). The Denver II: a major revision and restandardization of the Denver Developmental Screening Test. Pediatrics, 89(1), 91-97.
ข้อมูลจาก Facebook
ตามใจนักจิตวิทยา