การบูรณาการศาสตร์พระราชา ศาสตร์สากล และศาสตร์ชุมชน
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ “อาจารย์ยักษ์” บรรยายเรื่อง
“การบูรณาการศาสตร์พระราชา ศาสตร์สากล และศาสตร์ชุมชน”
บรรยายไว้เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ความยาวเกือบ 3 ชม. แต่ผมตัดมาแค่บางช่วงที่ เล่าถึงการทรงงานของในหลวง และการถวายงานต่อในหลวง ร.๑๐
สรุปสิ่งที่ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร พูดในบางช่วงบางตอน :
เริ่มด้วยการพูดถึงในหลวง ร.๑๐ ว่าวัยรุ่นในยุคนี้ไม่ค่อยชอบท่านเท่าไหร่ แม้กระทั่งคนในรุ่นของตัวผู้พูดเอง ก็ยังเคยได้ยินเรื่องข่าวลือต่าง ๆ นานา มาด้วยเหมือนกัน แต่พอได้มาเห็นการทรงงานของพระองค์ท่าน มาเป็น 10 กว่าโครงการ หมด “เงินส่วนพระองค์” หลายหมื่นล้านจนอาจจะถึงแสนล้านด้วยซ้ำ ซึ่งเงินตรงนี้คนละส่วนกับงบประมาณแผ่นดินของทางราชการ และทุกโครงการล้วนทำเพื่อประชาชน
ในทุก ๆ วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินจะทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษให้กับนักโทษบางส่วน ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งมีนักโทษที่จะได้รับอภัยโทษมีประมาณ 3 หมื่นกว่าคน แล้ว ร.๑๐ ทรงยังไม่ลงพระปรมาภิไธย (วีโต้) และท้วงติงไปว่าถ้าปล่อยออกไปตอนนี้จะดีหรือ เพราะตอนนี้คนตกงานกันเยอะ บริษัทก็ปิด วิศวกร หมอ และทุก ๆ คนลำบากกันหมด แล้วคนที่ออกจากเรือนจำ เป็นคนคุก ออกไปแล้วจะไปหากินได้อย่างไร ท่านจึงพระราชทานแนวทางมาให้ว่าให้ฝึกอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่ในเรือนจำดู (แบบที่ท่านทำที่ราบ 11)
อาจารย์และทีมงานเป็นผู้เขียนแบบถวาย ดำเนินงานฝึกอบรม ตรงนี้อาจารย์เล่าว่าในระหว่างที่ทำงานถวายพระองค์ท่าน…ทรงให้ทำรายงานถวายทุกวัน เช้า-เย็น ต้องมีภาพและวีดีโอ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้มาเบิกกับพระองค์ท่าน ทรงรู้ว่ากรมราชทัณฑ์ไม่มีงบประมาณตรงนี้ พระองค์ท่านไม่อยากให้ไปกระทบกับงบประมาณของรัฐบาล ทรงให้มาเบิกกับท่านทุกอย่าง … ทรงให้เปิดพร้อมกันทั้งหมดทั่วประเทศ 137 ศูนย์ฝึก ใช้เวลาแค่ 1 สัปดาห์ ซึ่งทำสำเร็จ และยังมีการฝึกอบรมต่อเนื่องอยู่ในปัจจุบัน (อ.ยักษ์ บอกแกทำศูนย์ฝึกมา 20 ปี ได้แค่ 40 ศูนย์ )
จุดน่าสังเกตคือ ในทุก ๆ ภาพวาดฝีพระหัตถ์พระราชทาน ล้วนออกมาในช่วงเวลาที่งานมีความคืบหน้าไปในแต่ละขั้นตอน ซึ่งอาจารย์ได้อธิบายในคลิปอย่างละเอียดในแต่ละรูป…พระองค์ท่านมิประสงค์จะให้ประชาสัมพันธ์ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา ใครจะว่าร้ายอย่างไรก็ปล่อยเขา อาจารย์บอกว่า ตรงนี้คงเป็นวิบากของท่าน เพราะทำดีแต่คนก็ยังด่า ยังเข้าใจแบบผิด ๆ
พระองค์ทรงทำโมเดลให้ออกมาทำตามง่าย เข้าใจไม่ยาก ให้ทำแบบ Kiss คือ keep it simple, stupid (ทฤษฎีนี้มาจาก U.S. Navy) พระองค์ตามเสด็จพ่อกับแม่ (ร.๙ , พระพันปี) มิเคยได้ยินแบบที่ข้าราชการหรือนักวิชาการเอาไปเขียนเลย… ร.๙ ทรงให้ทำแบบง่าย ๆ เข้าใจง่าย ๆ ชาวบ้านสามารถทำตามได้ (บางทีข้าราชการนำหลักการของท่านไปตีความและถ่ายทอดมาจนผิดเพี้ยนและเข้าใจยาก)
อาจารย์ยักษ์ สรุปคร่าว ๆ เกี่ยวกับโครงการที่ ร.๑๐ พระองค์ทรงทำ #บางโครงการ
- ตั้งโรงเรียนจิตอาสาฝึกอบรม(เข้าใจว่าในวัง) เพราะท่านเห็นว่าระบบราชการในปัจจุบันนี้สู้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้
- ระดมคนที่ผ่านการฝึกอบรมจิตอาสามาตั้งศูนย์ฝึกที่ราบ 11 ในพื้นที่ 200กว่าไร่
- จัดโครงการ 8 วิธีแบบง่ายๆ ส่งจิตอาสาไปช่วยภาครัฐสู้กับภัยแล้ง
- นำนักเรียนจิตอาสารุ่นที่ 2 ไปร่วมมือกับเครือข่ายชาวบ้าน ไปทดลองทำป่าต้นน้ำที่ต้นน้ำน่าน ทำไว้เป็นต้นแบบ และให้ไปช่วยเหลือกันทั่วประเทศเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
- คนตกงานกันมากหลังจาก COVID-19 โดยให้นำฟาร์มตัวอย่างของพระพันปีหลวงไปรองรับคน พันกว่าคนใน 30 ฟาร์ม โดยภายใน 1 เดือนแรกต้องให้มีกินให้ได้ จะปลูกถั่วงอก ผักบุ้ง หรืออะไรก็ได้ และต้องมีเหลือไปฝากพ่อกับแม่ หรือว่าว่าเอาไปแจกจ่ายให้กับคนที่ตกงานและไม่มีโอกาสได้เข้ามาอยู่ในฟาร์ม ยังไม่ให้ขาย ค่อยขายตอนรอต่อยอดไปเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เอาไปแปรรูป ท่านอยากให้มีบริษัทในชุมชน ประมาณนี้
- 137 ศูนย์ฝึกในเรือนจำ
- ไปพัฒนาโรงเรียนแบบ PBL – Project-Based learning(แนวคิดของ John Dewey) เป็นการเรียนรู้จากปัญหาจริง โดยเริ่มจากโรงเรียนมัธยมในจังหวัดน่านก่อน โดยเน้นจาก 1.เปิดห้องเรียนเอาปัญหาจากภายในมาศึกษา(ครอบครัว,ชุมชน) ไม่ใช่ศึกษาแต่ปัญหาของต่างประเทศ 2.ใช้การเรียนแบบ active learning แก้ปัญหาร่วมกันทั้ง ครู พ่อแม่ และนักเรียน 3.เปลี่ยนวิธีการประเมิน จากที่เคยใช้ kpi มาใช้ okr , competency assessment (การประเมินสมรรถนะ)
- พระราชทานที่ดินในพระตำหนักอาคารทรงไทย (ที่ๆ ร.๕ นั่งทอดปลาทู) ทำโครงการกตัญญูต่อ ร.๕ และต่อพระราชบิดา (ร.๙) – พระราชมารดา โดยจะนำเอาองค์ความรู้ที่ ร.๙ ทำมาตลอดกว่า 70 ปี มาย่อให้เข้าใจง่าย ๆ ในแบบ Kiss – keep it simple, stupid *รูปแบบโครงการนี้มีในภาพวาดฝีพระหัตถ์
พระองค์ท่านเรียนภาษาบาลี สันสกฤต และภาษาเทวะนาคี เพื่อต้องการที่จะทราบว่าวิถีที่คนในอดีตเขาทำ เขาทำกันอย่างไร เพราะพ่อท่าน (ร.๙) เคยบอกว่าพื้นที่ตรงนี้เมื่อก่อนนั้นเคยมั่งคั่งและเป็นจุดยุทธศาสตร์ ท่านก็เลยอยากจะรู้ตรงนี้
พระองค์ท่านเริ่มโครงการต่าง ๆ จากในบ้านท่านก่อน คือในวัง แล้วตามด้วยข้าราชบริพาร ท่านให้เข้าฝึกอบรม ทำงานเป็นกลุ่ม ๆ ออกแบบโคกหนองนา ท่านรับสั่งกับข้าราชบริพารว่า “อย่าใกล้เกลือกินด่าง”
ต้องบอกว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะต่อให้มีทุน มีทรัพยากร ที่ดีและพร้อมมากเท่าไร แต่ตัวคนที่บริหารจัดการไม่พร้อม ไม่มีความอดทน ไม่มีความเชื่อมั่น มันก็ยากครับที่จะมีโอกาสประสบผลสำเร็จ ในทางกลับกันถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความเพียร มีองค์ความรู้ที่ครบถ้วน ต่อให้ไม่มีทุนมากพอหรือไม่ได้มีทรัพยากรที่เพียบพร้อม โอกาสที่จะสำเร็จมันก็ยังพอมี เพราะคนแบบนี้จะวิ่งเข้าหาโอกาส จากกลุ่มต่าง ๆ ที่คอยแลกเปลี่ยนช่วยเหลือกันยังมีอีกมากในสังคมเรา…เริ่มทำสิ่งที่ดีเพื่อตัวเราและประเทศชาติในวันนี้ดีกว่า ไม่ทำแล้วเอาแต่วิจารณ์ แบบพวกตรรกะเก่งหลังเกมส์นี่ไม่ไหวครับ
สิ่งที่อาจารย์พูดอยู่อย่างคือ “เราไม่ได้มีหน้าที่เถียง” ใครจะคิดอย่างไรช่างเขา ตราบใดที่เราไม่ได้ทำให้เขาเดือดร้อน… ฉะนั้นแล้วใครจะไม่เชื่อ จะด่าหรือเยาะเย้ยก็ช่างเขา เราแชร์ให้กับคนที่เขาอยากรับรู้ก็พอครับ
หมายเหตุ ส่วนของการเล่าเรื่องมิได้ใช้คำราชศัพท์อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น
ขอบคุณช่อง KU Radio Thailand