ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมศึกษา
ความหลากหลายทางชีวภาพช่วยรักษาระบบนิเวศโลกให้มีเสถียรภาพและเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนั้นหากความหลากหลาย ทางชีวภาพลดลงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
กว่า 40 ปีที่ผ่านมา “สิ่งแวดล้อมศึกษา” เป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าและรักษาความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างเป็นรูปธรรม
การประชุมระดับโลกหลายเวทีได้พัฒนาสิ่งแวดล้อมศึกษาจนเกิดกรอบแนวคิดและหลักการปฏิบัติสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กฏบัตรเบลเกรด (Belgrade Charter) เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2518 กล่าวถึงจุดมุ่งหมายและแนวทางปฏิบัติของสิ่งแวดล้อมศึกษา และถือเป็นหลักการในการดำเนินงาน “กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา” ต่อมาในปี พ.ศ.2520 จากการประชุมผู้แทนทั่วโลกกว่า 60 ประเทศ ที่เมืองทบิลิซี สหภาพโซเวียต ได้ให้คำจำกัดความ
“ สิ่งแวดล้อมศึกษา คือ กระบวนการที่มุ่งสร้างให้ประชากรโลก มีความสำนึกและห่วงใยปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และมีความรู้ ทัศนคติ ความตั้งใจจริง และ ความมุ่งมั่นที่จะหาทางแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ และป้องกันปัญหาใหม่ ทั้งด้วยตนเองและด้วยความร่วมมือกับผู้อื่น”
สำหรับประเทศไทย สิ่งแวดล้อมศึกษานับเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้คนได้ตระหนักถึงการใช้ ทรัพยากรธรรมชาติและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2540 – 2559 มีความมุ่งหมายที่จะให้มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคม อันจะส่งผลให้การพัฒนาประเทศเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีนโยบายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การสร้างจิตสำนึกและจิตวิญญาณด้านการอนุรักษ์ให้แก่ผู้บริหารในหน่วยงานภาครัฐ นักการเมืองทุกระดับ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดการประสานแนวคิดทางด้านการพัฒนาและการอนุรักษ์ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นโยบายด้านการศึกษาและประชาสัมพันธ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่จะสามารถเสริมสร้างสมรรถนะ ของชุมชนในทุกระดับให้มีความเข้มแข็งและเกิดความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาอย่างยั่งยืนและกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา
“การพัฒนาอย่างยั่งยืน” คือ การพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและชาญฉลาด ไม่ทำลายฐานการผลิต ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ ซึ่งกล่าวได้ว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับ การอนุรักษ์
สำหรับกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา คือ การจัดการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน โดยรูปแบบและวิธีการจัดกิจกรรมสามารถ จำแนกได้ 3 รูปแบบ
- การเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อม (to Learn in Environment) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในสิ่งแวดล้อม
- การเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (to Learn about Environment) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เนื้อหาสิ่งแวดล้อมผ่าน กิจกรรมที่หลากหลาย
- การเรียนรู้เพื่อสิ่งแวดล้อม (to Learn for Environment) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติและ การมีส่วนร่วมในการปกป้องและพัฒนาสิ่งแวดล้อม
“กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environmental Education Process)” มีความหมายใกล้เคียงกับวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 5 ประการ ได้แก่
1. การรับรู้ปัญหา (Awareness)
กระบวนการที่ช่วยให้รับรู้ปัญหาและพิจารณา วิเคราะห์อย่างรอบด้านในการเกิดปัญหา และผลกระทบแนวกว้างและแนวดิ่ง
2. ความรู้ (Knowledge)
กระบวนการช่วยให้ได้เรียนรู้และเข้าใจพื้นฐานของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม การเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและแนวทางแก้ไข
3. ทัศนคติ (Attitude)
กระบวนการช่วยให้มีค่านิยม ห่วงใย ตั้งใจจริง และมุ่งมั่น ที่จะมีส่วนร่วมในการรักษาและ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม
4. ทักษะ (Skill)
กระบวนการช่วยให้เกิดทักษะที่จำเป็นในการชี้ปัญหาและดำเนินการตรวจสอบ รวมทั้งร่วมกันหา หนทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
5. การมีส่วนร่วม (Participation)
กระบวนการช่วยให้มีประสบการณ์ในการนำความรู้ และทักษะที่ได้มาใช้ใน การดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
นักสิ่งแวดล้อมศึกษาพยายามคิดค้นหากระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้คือ
คิดในระดับโลก แต่ทำในระดับท้องถิ่น
กระบวนการจะบอกกลุ่มเป้าหมายว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักจะเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกเสมอ แต่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ การเริ่มทำในระดับบุคคลหรือชุมชน เช่น ผู้เรียนอาจรู้สึกว่าตนเองทำอะไรไม่ได้กับปัญหาเรื่องการทำลายโอโซน แต่พวกเขา จะรู้สึกถึงพลังของตน เมื่อรู้ว่าตนเองสามารถช่วยลดสารเคมี หรือพลาสติกที่มีผลต่อการทำลายดังกล่าว
ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ อาจสอดแทรกได้ทุกรายวิชา
กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา แม้จะต้องการความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์บ้าง แต่ยังต้องประกอบด้วยความเข้าใจด้านอื่น ด้วย เช่น เศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การเมือง จริยธรรม เป็นต้น
ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ
สิ่งแวดล้อมศึกษาไม่ใช่เรื่องของวิชาใดวิชาหนึ่งแต่เพียงวิชาเดียว หากยังรวมถึงการปลูกฝัง ค่านิยม การตัดสินใจ ทักษะการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งทักษะอื่น ๆ มากมาย หน้าที่ของผู้คิดค้นกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา คือ การทำให้การศึกษาเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจ ร่วมกันทำ และง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองและกลุ่ม
กระบวนการที่เหมาะสม
กระบวนการนั้น ๆ จะคิดค้นเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับวัยของผู้ปฏิบัติ ภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ และระยะเวลา ในการดำเนินงานตามกระบวนการดังกล่าว
เรียนรู้จากการค้นพบด้วยตัวเอง
กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาเน้นการลงมือทำ เน้นการปฏิบัติทำให้เกิดความรู้และประสบการณ์ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ นักเรียนหรือผู้ปฏิบัติเกิดการอยากเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สนุก และไม่เบื่อที่จะเรียนรู้
การเปลี่ยนสถานที่เรียนรู้
จากห้องเรียนสี่เหลี่ยมสู่ห้องเรียนธรรมชาติ เป็นการเปิดประตูสู่โลกที่กว้างใหญ่ เปลี่ยนความรู้สึกของผู้เรียน จนอาจทำให้เกิด ความรู้และประสบการณ์ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ในที่สุด ดังนั้นฐานการเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาตินั้น นับได้ว่าเป็น สิ่งสำคัญมากกับกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา
มองโลกตามความเป็นจริง
จุดมุ่งหมายของการจัดกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา คือ การทำให้กลุ่มเป้าหมายมองโลกตามความเป็นจริง มองเห็นสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นออกจากกัน มองเห็นปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาตามที่เป็นจริง ซึ่งแตกต่างจากระบบการศึกษาทั่วไป