การเล่นมือถือนานเกินไปสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น
การศึกษาล่าสุดพบว่า วัยรุ่นที่ใช้เวลากับการทำกิจกรรมที่ไม่ได้อยู่หน้าจอทีวีหรือมือถือ จะมีสุขภาพจิตที่ดีกว่ากลุ่มที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอทีวีหรือมือถืออย่างมีนัยสำคัญ
โดยการศึกษานี้จัดทำขึ้นในประเทศแคนาดา กลุ่มตัวอย่างคือประชากรที่เป็นนักเรียนมัธยม ผลการศึกษาพบว่า วัยรุ่นที่เข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ไม่ใช้หน้าจอ (เช่น เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ เข้าทำกิจกรรมในชุมชน) มีความสัมพันธ์กับระดับความพึงพอใจต่อชีวิตและการมองโลกในแง่ดีในระดับที่สูงขึ้นและระดับความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าที่ลดลง ในทางตรงกันข้ามวัยรุ่นที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอที่นานขึ้น (≥2ชม./ วัน เพื่อเล่นเกม ดูทีวีหรือเล่นมือถือ) จะมีระดับความพึงพอใจต่อชีวิตและการมองโลกในแง่ดีที่ลดลง และยังมีความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าในระดับที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ การใช้เวลาอยู่หน้าจอที่สั้นลง (<2 ชม. / วัน) จะสัมพันธ์กับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
โดยผลของการอยู่หน้าจอจะมีในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย และสำหรับทั้งชายและหญิง สุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีจะดีที่สุดหากพวกเขาได้เข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าจอและมีการใช้หน้าจอน้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน
อ้างอิง
Oberle, E., Ji, X. R., Kerai, S., Guhn, M., Schonert-Reichl, K. A., & Gadermann, A. M. (2020). Screen time and extracurricular activities as risk and protective factors for mental health in adolescence: A population-level study. Preventive Medicine, 106291.
-หมอธีรยุทธ-
ขอขอบคุณข้อมูลสร้างแรงบันดาลใจจาก FB
Addiction Talk-จิตแพทย์อยากเล่า by TSAP
Post Views: 720