การภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ
ประวัติความเป็นมา
คนต่างศาสนาในสมัยโบราณกำหนดวันที่แน่นอนในการระลึกถึงผู้ล่วงลับ ตัวอย่างเช่นชาวโรมันกำหนดวันให้เกียรติแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับระหว่างวันที่ 13-22 กุมภาพันธ์ คริส ตชนไม่ได้ถือตามธรรมเนียมของชาวโรมัน เพราะเข้ากันไม่ได้กับความเชื่อของคริสตชน ในศตวรรษที่สองเราจึงได้เห็นรูปแบบที่ชัดเจนของการระลึกถึงผู้ล่วงลับของคริสตชน การระลึกถึงประกอบด้วยการภาวนาเพื่อผู้ล่วงลับ และตามด้วยพิธีมิสซา เริ่มแรกคริสตชนประกอบพิธีระลึกถึงผู้ล่วงลับในวันที่ 3 หลังจากพิธีฝังศพ และในวันครบรอบหนึ่งปีแห่งการจากไปของผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นได้เพิ่มวันที่ 7 วันที่ 30 และวันที่ 40 หลังจากการจากไปของผู้ล่วงลับ เป็นวันที่จะสวดภาวนา และถวายมิสซาให้แก่ผู้ล่วงลับ
เราพบความคิดที่จะกำหนดให้มีวันหนึ่งในรอบปี เพื่อระลึกถึงบรรดาวิญญาณของผู้ล่วงลับเป็นครั้งแรก โดยพระสังฆราชอิสิดอร์แห่งเซวิลล์ (ประมาณ ค.ศ. 636) ท่านได้สั่งให้นักพรตของท่านถวายมิสซาให้แก่วิญญาณของผู้ล่วงลับในวันจันทร์หลังจากวันสมโภชพระจิตเจ้า
นักบุญโอติโล แห่งคลูนี ได้ริเริ่มการภาวนาอุทิศแก่วิญญาณในไฟชำระ (Purgatory) ในปี ค.ศ. 998 ท่านสอนนักพรตเบเนดิกตินให้ถวายมิสซาและภาวนาแด่ผู้ล่วงลับ ในวั นที่ 2 พฤศจิกายน วันภาวนาอุทิศแก่วิญญาณในไฟชำระนี้เผยแผ่ไปอย่างรวดเร็วที่ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน ใน ศตวรรษที่ 13 พระศาสนจักรที่อิตาลี เป็นต้นที่กรุงโรมได้รับวันที่ 2 พฤศจิกายน เป็นวันภาวนาอุทิศแก่วิญญาณผู้ล่วงลับ
ในตอนปลายศตวรรษที่ 15 นักพรตคณะโดมินิกันที่เมืองวาเลนเซียในประเทศสเปน ได้ริเริ่มธรรมเนียมที่พระสงฆ์ถวายมิสซา 3 มิสซาในวันระลึกถึงผู้ล่วงลับ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 14 ในปี ค.ศ. 1748 ได้ให้สิทธิการถวายมิสซา 3 มิสซาในวันที่ 2 พฤศจิกายน แก่พระสงฆ์ในประเทศ สเปน โปรตุเกส และละตินอเมริกา ตั้งแต่ ค.ศ. 1915 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 อนุญาตให้พระสงฆ์ทุกองค์ถวายมิสซาในวันระลึกถึงผู้ล่วงลับได้ 3 มิสซา โดยมิสซาแรกถวายตามจุดประสงค์เฉพาะของพระสงฆ์ผู้ถวายมิสซา มิสซาที่สองถวายเพื่อดวงวิญญาณในไฟชำระทุกดวง และมิสซาที่สามถวายตามพระประสงค์ของพระสันตะปาปา
ในพิธีมิสซาพระสงฆ์สวมอาภรณ์สีม่วง ซึ่งให้ความหมายถึงการใช้โทษบาปและความหวังในการกลับคืนชีพ (สีม่วงเป็นสีที่ใช้ในพิธีปลงศพผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีอายุรู้ความแล้ว)
พิธีกรรมในวันนี้เน้นที่การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า (ธรรมล้ำลึกปัสกา) เป็นความหวังของวิญญาณผู้ล่วงลับ ที่จะกลับคืนชีพพร้อมกับองค์พระเยซูเจ้า ดังนั้น เพลงที่ใช้ในพิธีกร รมจึงต้องเป็นเพลงที่แสดงถึงความเชื่อ และความหวังในการกลับคืนชีพ มากกว่าความเกรงกลัวในการพิพากษาของพระเจ้า
บทอ่าน บทภาวนา และบทเพลงของมิสซาในวันนี้ทั้ง 3 มิสซา เน้นที่ความเชื่อในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า (ธรรมล้ำลึกปัสกา) และการภาวนาเพื่อผู้ล่วงลับจะได้มีส่วนในธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูเจ้า ในที่นี้ขอยกตัวอย่างจากมิสซาวันภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับแบบที่ 1
เพลงเริ่มพิธี ซึ่งนำมาจากพระคัมภีร์ กล่าวอย่างชัดเจนถึงความเชื่อว่าผู้ล่วงลับจะกลับคืนชีพเพราะพระเยซูเจ้า
“เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้า สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ เราจึงเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงนำบรรดาผู้หลับอยู่มากับพระองค์ โดยทางพระเยซูเจ้าเช่นเดียวกันมนุษย์ทุกคนตายเพราะอาดัมฉันใด มนุษย์ทุกคนก็จะกลับมีชีวิตเพราะพระคริสตเจ้าฉันนั้น” (1 ธส 4:14; 1 คร 15:22)
ด้วยความเชื่อเช่นนี้เราจึงพร้อมใจกับพระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธี ในบทภาวนาของประธานโดยภาวนาว่า “เมื่อข้าพเจ้าทั้งหลายภูมิใจที่ได้เชื่อว่าพระบุตรทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว ขอโปรดให้มีความหวังอย่างมั่นคงว่า บรรดาสัตบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วจะกลับคืนชีพด้วย”
นอกจากพระวาจาของพระเจ้าจะให้ความหวังในการกลับคืนชีพของผู้ล่วงลับแล้ว พระวาจาของพระเจ้ายังให้ความมั่นใจแก่เราว่าพระเจ้าทรง รักและเอาใจใส่ดูแลชีวิตของพวกเราเสมอ บทอ่านที่หนึ่งจากจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม (รม 8:14-23) แสดงความหวังในพระเจ้าว่า
“สรรพสิ่งยังมีความหวังว่า จะได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสของความเสื่อมสลาย เพื่อไปรับอิสรภาพอันรุ่งเรืองของบรรดาบุตรของพระเจ้า”
บทสดุดีที่ 23 กล่าวถึงพระเจ้าทรงรักและดูแลเราเหมือนนายชุมพาบาลที่ดีดูแลฝูงแกะ บทสดุดีนี้ยังให้ความมั่นใจแก่เราว่า พระกรุณาและความรักมั่นคงของพระองค์จะติดตามเราไปทุกวันตลอดชีวิต พระวรสาร (ยน14:1-6) กล่าวถึงเมืองสวรรค์ว่าเป็นบ้านของพระบิดาของเรา และพระเยซูเจ้าทรงกำลังเตรียมที่ในเมืองสวรรค์ให้กับพวกเรา
ในบทภาวนาหลังรับศีลเราภาวนาว่า “โปรดให้บรรดาสัตบุรุษผู้ล่วงลับซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลายได้กระทำพิธีระลึกถึงธรรมล้ำลึกปัสกาอุทิศให้ นี้ ได้เข้าสู่ที่พักสว่างไสว ร่มเย็นเป็นสุขกับพระองค์ด้วยเถิด”
พระคุณการุณย์อุทิศแก่ผู้ล่วงลับ
พระคุณการุณย์ ครบบริบูรณ์ พระศาสนจักรให้พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์อุทิศแก่ผู้ล่วงลับ สำหรับคริสตชนที่
- ในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 1-8 พฤศจิกายน
เมื่อคริสตชนไปเยี่ยมสุสาน หรือสวดภาวนาในใจเพื่ออุทิศแด่ผู้ล่วงลับ
- ในวันภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ 2 พฤศจิกายน (หรือวันอาทิตย์ก่อนหรือหลังวันภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หรืออวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย ตามแต่พระสังฆราชจะกำหนด) สำหรับคริสตชนที่ไปเยี่ยมที่วัดหรือวัดน้อยด้วยความศรัทธา และสวดบทข้าแต่พระบิดาและบทข้าพเจ้าเชื่อ ณ ที่นั้น
พระคุณการุณย์ ไม่ครบบริบูรณ์ พระศาสนจักรให้พระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์อุทิศแก่ผู้ล่วงลับสำหรับคริสตชนที่
- ไปเยี่ยมสุสาน หรือสวดภาวนาในใจเพื่ออุทิศแด่ผู้ล่วงลับ ในวันอื่นที่นอกเหนือจากวันที่ 1 – 8 พฤศจิกายน
- สวดทำวัตรเช้าหรือทำวัตรเย็นสำหรับผู้ล่วงลับด้วยความศรัทธา หรือสวดว่า “ประทานการพักผ่อนนิรันดรแก่เขาเถิดพระเจ้าข้า”
เงื่อนไขการรับพระคุณการุณย์
1. มีเจตนาที่จะรับพระคุณการุณย์
2. สวดบท ข้าแต่พระบิดา และบทข้าพเจ้าเชื่อ อย่างศรัทธา
3. ปฏิบัติศาสนกิจ ดังนี้
- รับศีลอภัยบาป
- รับศีลมหาสนิท (จะรับศีลมหาสนิทภายหลังในช่วงเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็ได้)
- สวดภาวนาบท “ข้าแต่พระบิดา” และ”วันทามารีย์” หรือสวดบทภาวนาอื่นตามความศรัทธาของแต่ละคนก็ได้ ทั้งนี้เพื่อพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา
ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนพี่น้องทุกท่านให้ไปเยี่ยมสุสานที่หลุมศพของผู้ที่เราเคารพรัก ทำความสะอาดหลุมศพ ประดับด้วยดอกไม้ จุดเทียน และสวดภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับเป็นพิเศษในโอกาสนี้
หมายเหตุ
1. คริสตชนจะรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ได้วันละ 1 ครั้ง
2. คริสตชนอาจจะรับพระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์ได้วันละหลายครั้ง
ที่มา : ประวัติความเป็นมา …โดยคุณพ่อเชษฐา ไชยเดช