หลักในการเลี้ยงดูลูก – Principle of Child Rearing
นพ.กมล แสงทองศรีกมล
หนังสือแม่และเด็ก ปีที่ 30 ฉบับที่ 420 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
1) ให้ความรักและแสดงออกซึ่งความรักให้ลูกรู้ (Love; consistently and appropriately shown)
เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมรักลูก แต่คุณพ่อคุณแม่ไทยหลายๆ คนมักจะไม่ค่อยแสดงความรักออกมาอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมไทยต่างจากทางตะวันตก อย่างไรก็ตาม การพูดและการแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น โอบกอด ให้ความชื่นชม จะทำให้ลูกรู้ซึ้งซาบซึ้งและมีความสุขกับความรักของพ่อแม่ครับ
2) ครอบครัวที่มีความสุข พ่อและแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Happy family; mother and father have a good relationship)
ธรรมชาติได้สร้างพ่อและแม่ไว้ให้ร่วมมือช่วยเหลือกันดูแลลูก ลองนึกภาพนะครับ ว่าถ้าพ่อแม่ทะเลาะกัน เถียงกัน ขัดแย้งกันเกือบทุกเรื่อง ชีวิตคู่ในครอบครัวไม่มีความสุข ต่อให้ต่างคนต่างก็รักลูกมาก แต่การเลี้ยงดูคงจะมีคุณภาพดีไปไม่ได้ครับ
3) มีความรู้ความเข้าใจในพัฒนาการของเด็ก (Understanding of child’s developmental level)
พัฒนาการของลูกน้อยและวัยมีความหมายอย่างยิ่งครับ เพราะไม่เพียงแต่บ่งบอกถึงการเจริญเติบโตของสมองเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในการติดตามภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นเพื่อจะได้แก้ไขได้ทันท่วงทีครับ คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาหาความรู้ สังเกตและจดบันทึกพัฒนาการของลูกรวมถึงพูดคุยปรึกษาปัญหาพัฒนาการกับกุมารแพทย์เมื่อพาลูกมารับวัคซีนป้องกันโรคตามที่แพทย์นัด นอกจากนี้ยังเอาไว้ใช้สำหรับฝึกการช่วยเหลือตนเองของลูกไว้ด้วยครับว่าลูกควรจะทำอะไรได้เองบ้าง เมื่ออายุเท่าไร
4) เลี้ยงดูลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (Parent bring up their own children as much as possible)
คุณพ่อคุณแม่บางคนต้องทำงานทั้งคู่ ไม่มีเวลาดูแลลูกตอนกลางวัน ต้องฝากพี่เลี้ยงหรือปู่ยา ตายายเลี้ยง แต่พอกลับมาบ้านก็ไม่ค่อยได้ให้เวลากับลูกอีก อาจเพราะเหนื่อยหรืออยากมีเวลาส่วนตัวบ้าง กลางคืนก็ฝากพี่เลี้ยงหรือปู่ย่าตายายดูแลต่อ ถ้าเป็นอย่างนี้ความสัมพันธ์กับลูกก็คงจะดีไปไม่ได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรพยายามเลี้ยงดูลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ต้องยอมเหนื่อย อดนอนบ้าง เพราะเวลาที่จะอยู่กับลูกนั้นสำคัญมาก นอกจากสร้างสายใยความรักความผูกพันแล้วจะทำให้เรารู้จักลูกเราเองมากขึ้นด้วยครับ ลูกนิสัยใจคออย่างไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร หรือแม้แต่เวลาลูกป่วยเขามีอาการอะไรบ้างถ้าเราห่างจากลูกเราจะไม่รู้จักเขาเลย
5) เสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้ลูก (Build child’s self esteem; help to have a good felling about himself and others)
ความเชื่อเดิมที่ว่า ชมเชย เดี๋ยวเหลิง อาจทำให้พ่อแม่ไทยส่วนหนึ่งไม่อยากชมลูก หรือชมในใจ ไม่พูด ไม่แสดงออกมา ในแง่จิตวิทยาเด็กแล้วคำชมและการให้รางวัลอย่างเหมาะสมสำคัญมากครับ เพราะนอกจากจะทำให้ลูกมีพฤติกรรมดีต่อเนื่องแล้วยังช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้ลูก รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วยครับ
6) ให้อิสระตามวัย และให้โอกาสในการตัดสินใจ (Grant age – appropriate freedom and opportunity to decide)
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับให้ลูกคิดและเชื่อตามตัวเอง ควรให้เพียงข้อมูลและเปิดโอกาสให้ลูกคิดตัดสินใจเอง อย่างไรก็ตามปัญหาสังคมในยุคนี้คุณพ่อคุณแม่ที่อยากให้อิสระลูก อาจต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกด้วยนะครับ ทางสายกลางคงดีที่สุด
7) ส่งเสริมสนับสนุนให้ลูกสามารถดูแลตัวเองได้ (Encourage them to take good care of themselves as well as others)
ผมเคยพบเด็กที่อายุ 10 ปีแล้ว แต่พี่เลี้ยงยังต้องป้อนข้าวให้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ตามพัฒนาการนั้นเด็กสามารถใช้มือตักข้าวกินเองได้ตั้งแต่อายุ 1-1 ปีครึ่ง การฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองย่อมมีประโยชน์และผลดี คือเป็นการฝึกความรับผิดชอบ และได้สอนลูกให้รู้เรื่องกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย นอกจากนี้การฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเองตามวัย เช่นการกลัดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า นอกจากเป็นการฝึกทักษะการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อและสายตาแล้ว ยังจะช่วยพัฒนาทักษะในการแก้ไขปัญหา (Problem solving skills) ด้วยครับ เช่น เมื่อเกิดปัญหาจะทำอย่างไร เด็กจะเรียนรู้การขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ เรียนรู้การวางแผนล่วงหน้าเพื่อไม่เกิดปัญหาในครั้งต่อๆ ไป
8) ส่งเสริมให้ลูกรู้จักคิดอย่างมีหลักการและเหตุผล (Encourage them to think with principle and logic)
อันนี้จะชัดเจนมากขึ้นเมื่อลูกโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ในการเลี้ยงดูลูก และกระตุ้นให้ลูกรู้จักคิดหาเหตุผลเอง
9) ส่งเสริมให้ลูกรู้จักผ่อนคลาย และหาความสุขให้ตัวเองได้ (Encourage them to be able to relax and enjoy themselves)
ทุกวันนี้เราเห็นภาพลูกหลานของเราทุ่มเทกับการศึกษา โดยเฉพาะเด็กมัธยมที่กวดวิชากันทั้งช่วงเย็น หลังเลิกเรียน และวันเสาร์-อาทิตย์ จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน นอกจากนี้ส่วนหนึ่งของ การปฏิรูปการศึกษาทำให้เด็กต้องทำรายงานมากขึ้น ทำไม่ทัน เพราะบางทีมีรายงานหลายวิชาพร้อม ๆ กัน พ่อแม่ก็ต้องช่วยลูกทำ บางทีกว่าจะเสร็จห้าทุ่ม เที่ยงคืน ยิ่งเวลาใกล้สอบต้องคอยติวลูก หรือคอยดูแลให้อ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่บางคนพยายามที่จะยัดเยียดให้ลูกเรียนทุกอย่าง ให้เก่งทุกทางทั้งด้านการเรียน ดนตรี กีฬา ศิลปะและสังคม เช่น อัดกิจกรรมและหลักสูตรเข้าไปเต็มที่จนเด็กไม่มีเวลาพักผ่อนหรือเวลาว่างๆ พอที่จะคิดอะไรเล่นบ้างเลย ดังที่เราอาจเคยได้ยินตารางกิจกรรมของเด็กบางคนที่พ่อแม่จัดไว้จนเต็ม เช่น ทุกเย็นจันทร์ถึงศุกร์เรียนพิเศษ เช้าวันเสาร์เรียนภาษาอังกฤษ บ่ายเรียนบัลเล่ต์ เย็นเรียนเทนนิส วันอาทิตย์เช้าต้องเรียนศิลปะ บ่ายเรียนเปียโน ตอนเย็นเรียนภาษาจีน ใครจะเก่งได้หมดทุกอย่าง และที่สำคัญถึงจะเก่งหลายอย่างแต่ชีวิตไม่มีความสุข ก็ไม่มีประโยชน์ จริงไหมครับ ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้ลูกรู้จักผ่อนคลาย และหาความสุขให้ตัวเองได้ด้วย
ที่พูดคุยกันมาทั้งหมดนี้ อาจเป็นไปไม่ได้ที่คุณพ่อคุณแม่จะทำได้หมด แต่ผมเชื่อว่าด้วยความรักลูก ย่อมจะทำให้เราพยายามที่จะเลี้ยงดูลูกให้มีคุณภาพสูงสุดเท่าที่เราจะทำได้ครับ